ออกรถฟรีดาวน์ 0% ต้องจ่ายอะไรบ้าง ออกรถฟรีดาวน์ หรือ ดาวน์ 0% คืออะไร วันออกรถมีค่าใช้จ่ายอย่างอื่นที่ต้องเตรียมไปอีกไหม วันนี้เรามีคำตอบ
สำหรับผู้ที่กำลังจะซื้อรถใหม่หลาย ๆ ท่านคงเคยได้ยินและเคยเห็นคำว่า “ฟรีดาวน์” หรือ “ดาวน์ 0%” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะอำนวยความสะดวกในการออกรถได้ ถึงแม้จะยังไม่มีเงินก้อนในการจัดซื้อ วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักความหมายของการออกรถฟรีดาวน์ ว่าคืออะไร ต้องจ่ายอะไรบ้าง และมีเงื่อนไขอย่างไร
ออกรถฟรีดาวน์ หรือดาวน์ 0% คืออะไร
ปกติการซื้อรถแบบผ่อนคุณต้องจ่ายเงินสดส่วนหนึ่ง เป็นจำนวนเงินที่คิดจากส่วนต่างระหว่างยอดจัดไฟแนนซ์กับราคารถ เรียกง่าย ๆ ว่า “เงินดาวน์” หรือ “ค่าดาวน์รถ” คือเงินก้อนแรกที่จะต้องถูกจ่ายไปก่อนที่จะซื้อรถยนต์ โดยเป็นส่วนที่ไม่ถูกคิดดอกเบี้ย ยิ่งดาวน์ในสัดส่วนที่มาก ยิ่งทำให้สามารถผ่อนชำระรายงวดได้ในจำนวนที่น้อยลง ซึ่งเท่ากับว่าช่วยให้เสียดอกเบี้ยน้อยลงตามไปด้วย ทั้งนี้ เงินดาวน์จะแตกต่างกันออกไปตามเงื่อนไขของค่ายรถและโปรโมชั่นต่าง ๆ โดยปกติสัดส่วนของการดาวน์รถจะอยู่ที่ประมาณ 25-40 เปอร์เซ็นต์ของราคารถ
นอกจากนั้นในการออกรถฟรีดาวน์ หรือดาวน์ 0% จะมีข้อกำหนดของแต่ละสินเชื่อที่ต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่จะแบ่งคิดค่าดอกเบี้ยเป็น 2 ช่วง เช่น เมื่อผ่อนรถแบบ 7 ปี ใน 4 ปีแรกจะคำนวณดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ขึ้นไป ส่วนใน 3 ปีหลังจะนำเงินส่วนที่เหลือมาคำนวณใหม่ในอัตราดอกเบี้ยที่น้อยลงอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3 แต่จะมีผลดีกับผู้ที่มีเงินก้อนและไม่อยากเสียดอกเบี้ยนาน ๆ โดยสามารถปิดยอดจ่ายเงินก้อนได้ในช่วง 3 ปีหลัง โดยไม่เสียดอกเบี้ยเลย
ออกรถฟรีดาวน์ หรือดาวน์ 0% ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร
แม้ว่าฟรีดาวน์ หรือดาวน์ 0% จะช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับผู้เช่าซื้อที่ต้องการออกรถทันที จ่ายทีหลัง แต่ใช่ว่าทุกคนจะมีสิทธิ์ เพราะทางไฟแนนซ์ หรือธนาคาร จะต้องตรวจสอบคุณสมบัติที่มีความเข้มงวดและรัดกุมมากกว่าการซื้อรถแบบปกติ หรือซื้อแบบวางเงินดาวน์ โดยคุณสมบัติของผู้เช่าซื้อ มีดังนี้
- รายได้จะต้องเป็น 2 เท่าของยอดผ่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งฐานเงินเดือนต้องเป็น 2 เท่าของค่างวดผ่อนชำระ เช่น มีเงินเดือน 12,000 บาท ต้องการออกรถฟรีดาวน์ ยอดผ่อน 8,000 บาท 60 งวด ซึ่งรายได้เป็น 2 เท่า คือ 16,000 บาท แต่รายได้ของผู้เช่าซื้อมีเพียง 12,000 บาท อันนี้จะถือว่าไม่ผ่านเกณฑ์
- ไม่ติดเครดิตบูโร ผู้เช่าซื้อจะต้องไม่มีประวัติการชำระล่าช้ากับสถาบันเครดิตบูโร หรือเป็นผู้ปลอดภาระหนี้ในระยะเวลาหนึ่ง
- มีที่อยู่ชัดเจน จะต้องมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งชัดเจน และสามารถติดต่อได้
- อายุงาน ผู้เช่าซื้อจะต้องมีอาชีพการงานที่มั่งคง โดยจะต้องมีอายุการทำงานในสถานที่นั้นเกิน 3 เดือนขึ้นไป
- ลักษณะของอาชีพ การงานและอาชีพก็ส่งผลต่อการประเมินต่อการพิจารณา เช่น พนักงานบริษัท, เจ้าของกิจการ, รับราชการ, ทำงานในรัฐวิสาหกิจ ส่วนอาชีพฟรีแลนซ์ เลี้ยงสัตว์ หรือเกษตรกร จะไม่เข้าเงื่อนไขของสถาบันการเงิน มีผลต่อการพิจารณาได้
ออกรถฟรีดาวน์ หรือดาวน์ 0% ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง
ในการออกรถแบบฟรีดาวน์ หรือดาวน์ 0% จะต้องใช้เอกสารอะไรบ้างในการเช่าซื้อรถ ไปดูกัน
- บัตรประชาชน
- ทะเบียนบ้านตัวจริง
- สลิปเงินเดือน หรือหนังสือรับรองเงินเดือนที่ออกโดยทางบริษัทที่ทำงานอยู่
- หนังสือรับรองเงินเดือน ที่มีตราประทับของทางบริษัท
- สมุดบัญชีธนาคารย้อนหลัง 6 เดือน
- เอกสารรายงานสถานะเครดิตบูโร (ถ้ามี)
- ทะเบียนการค้า หรือทะเบียนพาณิชย์ (กรณีเป็นเจ้าของกิจการ)
ออกรถฟรีดาวน์ หรือดาวน์ 0% ต้องจ่ายอะไรบ้าง
ในการออกรถฟรีดาวน์ ถึงแม้ว่าทางผู้เช่าซื้อจะไม่ต้องจ่ายเงินดาวน์ หรือเงินก้อนแรก แต่จะต้องมีค่าใช้จ่ายในส่วนอื่น ๆ อีก ประกอบไปด้วย
- ค่ามัดจำป้ายแดง ป้ายแดง คือ ป้ายที่ออกโดยกรมการขนส่งทางบก และกำหนดให้ผู้ขายต้องติดให้ผู้ซื้อในระหว่างที่รถยนต์รอจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก ป้ายแดงจะมีค่ามัดจำประมาณ 2,000-3,000 บาท และจะได้รับเงินคืนในวันที่เราไปเปลี่ยนเป็นป้ายขาว อย่างไรก็ตาม ผู้เช่าซื้อควรนำป้ายแดงที่ได้จากศูนย์มาตรวจสอบว่าเป็นป้ายทะเบียนที่ถูกต้อง ไม่ใช่ป้ายทะเบียนปลอม เพื่อป้องกันปัญหาเมื่อโดนตำรวจเรียกตรวจสอบการใช้รถป้ายแดง
- ค่าจดทะเบียนรถ ในการออกรถใหม่จะต้องมีค่าจดทะเบียนรถยนต์ ซึ่งมีราคาไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับขนาดตัวรถและเครื่องยนต์ว่ามีกี่ซี.ซี. โดยในขั้นการจดทะเบียนรถป้ายแดง ทางผู้ขายหรือศูนย์รถจะเป็นผู้ดำเนินการให้ โดยทางศูนย์อาจจะมีการบวกเพิ่มค่าบริการเข้าไปบ้างเล็กน้อย แต่ก็จะถือเป็นขั้นตอนที่ง่ายกว่าการที่เราไปติดต่อกรมขนส่งเอง โดยค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนประกอบไปด้วย อัตราค่าจดทะเบียนรถใหม่ 315 บาท ใบคู่มือจดทะเบียนรถ 100 บาท ป้ายทะเบียนรถ 100 บาท และค่าต่อภาษีรถยนต์ (ขึ้นอยู่กับประเภทรถและเครื่องยนต์)
- ประกันสินเชื่อรถยนต์ การออกรถฟรีดาวน์ ทางไฟแนนซ์จะให้ผู้เช่าซื้อทำประกันสินเชื่อรถยนต์แนบไปด้วย เพราะเมื่อตัดสินใจเลือกซื้อรถแบบผ่อนแล้ว จะทำให้ภาระการชำระค่ารถทั้งหมดตกไปเป็นหน้าที่ของบริษัทที่ทำการขอสินเชื่อ เสมือนทางบริษัทหรือไฟแนนซ์ต้องมาแบกรับความเสี่ยงจากทางผู้เช่าซื้อ และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสะดุดระหว่างการชำระเบี้ยและเพิ่มหลักประกันความมั่นใจ ทางบริษัทผู้ให้สินเชื่อจึงยื่นข้อเสนอด้วยประกันสินเชื่อรถยนต์ ป้องกันเหตุไม่คาดฝันในอนาคต ลดความเสี่ยงทั้งทางผู้เช่าซื้อและผู้ให้กู้ โดยค่าเบี้ยประกันสินเชื่อรถยนต์นั้นจะขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทว่าจะมีเรตราคาที่เท่าไหร่
ออกรถฟรีดาวน์ หรือดาวน์ 0% ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกันได้ไหม
การออกรถฟรีดาวน์ หรือดาวน์ 0% จำเป็นต้องมีผู้ค้ำประกันเพื่อลดความเสี่ยง หากผู้กู้ไม่ผ่อนชำระค่างวด โดยผู้ค้ำประกันรถยนต์ต้องมีคุณสมบัติไม่น้อยกว่าผู้เช่าซื้อ โดยผู้ค้ำประกันจะต้องมีเงินเดือนเป็น 2 เท่าของค่างวดผ่อนชำระต่อคันต่อเดือน เหมือนกับผู้เช่าซื้อ
ออกรถฟรีดาวน์ หรือดาวน์ 0% จะต้องเจออะไรบ้าง
- ยอดจัดไฟแนนซ์ที่สูง เมื่อไม่มีการจ่ายเงินดาวน์ ทำให้ยอดขอสินเชื่อสูง ถ้าหากนำยอดนี้มาคำนวณรวมกับอัตราดอกเบี้ยและอัตราดอกเบี้ยภาษี 7% เข้าไปแล้ว จะทำให้ยอดที่จะต้องผ่อนในแต่ละงวดสูงตามไปด้วย เป็นหนึ่งในเหตุผลที่คนส่วนใหญ่ไม่ผ่านการขอสินเชื่อในลักษณะนี้
- ค่างวดผ่อนรถต่อเดือนที่สูงกว่าปกติ เนื่องจากยอดดาวน์รถได้ถูกคำนวณรวมกับยอดจัดเต็มจำนวนและดอกเบี้ย มาเฉลี่ยเป็นค่าผ่อนรถแต่ละเดือน ซึ่งจะส่งผลต่อภาระที่ต้องจ่ายมากขึ้น เมื่อเทียบกับการวางเงินดาวน์ไว้ส่วนหนึ่งตามไฟแนนซ์หรือธนาคารกำหนด
- ดอกเบี้ยที่สูง “เงินดาวน์” จะทำหน้าที่ช่วยลดภาระในการผ่อนชำระต่อเดือนโดยรวม ยิ่งจ่ายเงินดาวน์สูง เมื่อคำนวณเงินต้นและดอกเบี้ย ค่างวดต่อเดือนก็จะจ่ายน้อยลง แต่สำหรับผู้เช่าซื้อที่เลือกฟรีดาวน์ นอกจากจะต้องรับผิดชอบค่ารถแบบเต็มจำนวนแล้ว เมื่อคำนวณดอกเบี้ยก็จะมากขึ้นตามไปด้วย โดยอัตราดอกเบี้ยแบบดาวน์ 0% จะสูงกว่าปกติ โดยจะมีตั้งแต่ร้อยละ 5 ขึ้นไป และหากค้างชำระค่างวดแต่ละเดือนก็จะถูกนำมาทบต่อเนื่อง กลายเป็นดอกเบี้ยสะสมที่จะส่งผลต่อค่างวดผ่อนรถที่สูงขึ้นไปอีก
ออกรถฟรีดาวน์ หรือดาวน์ 0% เป็นการเพิ่มทางเลือกสำหรับผู้ที่มีสภาพคล่องทางรายได้ต่อเดือนที่ไม่สูง และไม่สะดวกที่จะนำเงินก้อนมาวางสำหรับวางดาวน์รถ แต่ด้วยเงื่อนไขและปัจจัยหลาย ๆ อย่าง จึงทำให้มีน้อยคนที่จะผ่านเกณฑ์การประเมิน แต่ทั้งนี้ถ้าหากคุณได้รับสิทธิ์ออกรถฟรีดาวน์ ก็ต้องตั้งคำถามพร้อมกับวางแผนในระยะยาวว่าคุณจะมีกำลังผ่อนได้สูงสุดต่อเดือนขนาดไหน กับราคารถที่สูงและการผ่อนที่นาน ถ้าไม่มีการจัดการที่ดีก็อาจโดนไฟแนนซ์มายึดรถก็เป็นได้
ขอบคุณข้อมูลจาก : dlt.go.th