Knowledge

“ทางด่วนระดับดิน” แท้จริงแล้วคืออะไร?

ทางด่วนระดับดิน” แท้จริงแล้วคืออะไร? ไม่กี่วันที่ผ่านมา การทางพิเศษแห่งประเทศไทย เพิ่งจะอัปเดตข้อมูลที่เป็นกฎกระทรวง “กำหนดความเร็วในทางพิเศษ” ซึ่งมีผลบังคับใช้ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 22 ก.ค. ที่ผ่านมาครับ โดยมีใจความว่าหากเป็น “ทางยกระดับ” รถยนต์ 4 ล้อ ไม่เกิน 100 กม./ชม. และ “ระดับดิน” รถยนต์ 4 ล้อ ไม่เกิน 110 กม./ชม.

ว่าแต่ทางด่วน “ระดับดิน” มันคือตรงไหน หรือแต่ละท่านได้ยินคำนี้แล้วเข้าใจว่าอย่างไรกันบ้างครับ ผมเข้าไปดูคอมเมนต์ในโลกออนไลน์ตามเว็บบอร์ดและเพจต่าง ๆ รวมถึงเพจของการทางพิเศษฯ นอกจากความเห็นที่ “ด่า” เรื่องกำหนดใช้ความเร็วที่หลายท่านอาจจะมองว่าต่ำไปแล้ว หลายความเห็นก็ยังเข้าใจทางด่วนระดับดินไปผิดทางครับ

หลายความเห็นเข้าใจว่าทางด่วนระดับดิน คือ มอเตอร์เวย์ หรือเส้นวงแหวนกาญจนาภิเษก ที่ก่อนหน้านี้เรารู้กันว่าเป็นเส้นที่วิ่งได้สูงสุดไม่เกิน 120 กม./ชม. และมองว่าการประกาศครั้งนี้คือการลดความเร็ว แต่ต้องทำความเข้าใจกันก่อนนะครับว่า ประกาศนี้ออกมาจากเป็นประกาศจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย หรือ EXAT

ซึ่งการทางพิเศษฯ ไม่ได้ดูแลมอเตอร์เวย์แต่อย่างใดครับ และหากสังเกตง่าย ๆ ก็คือ ด่านไหนที่เป็นด่านเก็บเงินแล้วมีช่อง Easy Pass แบบดั้งเดิม (ไม่นับ M Pass, M-Flow และโทลล์เวย์) นั่นแหละครับคือทางด่วนที่รับผิดชอบโดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย

ฉะนั้นผมเองจึงพยายามทำความเข้าใจด้วยตัวเองว่า ทางด่วนระดับดินคือทางด่วนในกทม. นี่แหละครับ ซึ่งเป็นเส้นทางบนพื้นราบ ไม่ใช่มอเตอร์เวย์แต่อย่างใด อย่างเช่นเส้นทางราบบ่อนไก่ที่ขึ้นจากพระราม 4 รวมถึงทางราบเข้า-ออกโซนบางนา รวมถึงหากออกนอกเมืองก็น่าจะเป็นช่วงธรรมศาสตร์ไปถึงบางปะอิน

เพื่อความชัวร์ผมเลยสอบถามไปยัง EXAT Call Center 1543 ซึ่งก็ได้คำตอบตามนั้นครับ ทว่าคำถามต่อไปคือทำไมกำหนดให้ความเร็วบนพื้นราบกับบนทางยกระดับไม่เท่ากัน ขออนุญาตออกความเห็นแบบไม่เข้าข้างการทางพิเศษฯ นะครับ ว่ามันคือเหตุผลด้านความปลอดภัย

เพราะว่าการขับรถบนทางยกระดับ กระแสลมและระดับของลมมีผลมากกว่าในทางราบแน่นอน โดยเฉพาะเส้นยกระดับทางพิเศษบูรพาวิถี ที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษหากเราขับรถด้วยความเร็ว เพราะบางวันรู้สึกได้เลยว่าลมปะทะตัวรถแรงมาก รวมถึงรู้สึกถึงอาการของรถเมื่อขับไปความเร็วสูง ๆ นั่นเองครับ

ฉะนั้น การประกาศครั้งนี้คือการเพิ่มความเร็วไม่ใช่ลดความเร็วนะครับ เพราะก่อนหน้านี้หากยึดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก การใช้ความเร็วในเขตกทม. (ทางด่วนทุกสายในกทม. และดอนเมืองโทลล์เวย์) เมืองพัทยา และเขตเทศบาลทุกจังหวัด ระบุให้รถยนต์สามารถทำความเร็วได้ไม่เกิน 80 กม./ชม. เท่านั้นเอง

มาถึงตรงนี้หลายท่านอาจจะยังสงสัยว่า “แล้วเส้นไหนวิ่ง 120 ได้บ้าง” คำตอบคือ ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (มอเตอร์เวย์กรุงเทพ-ชลบุรี) และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 (วงแหวนกาญจนาภิเษก) เป็น 2 ทางพิเศษที่สามารถกดคันเร่งตามกฎหมายไปถึง 120 กม./ชม. ได้ รวมถึงยังมีเส้นทางหลวงระหว่างจังหวัดอีกราว ๆ 10 เส้นทางครับ

     งานนี้ผมคิดว่าการทางพิเศษฯ ควรจะออกมาให้ข้อมูลให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้ผู้ใช้รถเข้าใจผิดกับคำว่าทางด่วน “ระดับดิน” นะครับ ส่วนระดับความเร็วใหม่ สำหรับผมรับได้นะครับกับกฎกระทรวงนี้ เพราะที่ผ่านมาเรายังขับกันได้เลยทั้งที่เขากำหนดไว้แค่ 80 กม./ชม. จริงไหมล่ะครับ (ฮา)

“ทางด่วนระดับดิน”

CarMate แอพคู่ใจ คนใช้รถ

ขอบคุณข้อมูลจาก Sanook.com