เที่ยวธรรมชาติวิถี New Normal กับการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เป็นหนึ่งในความท้าทายสำคัญของการจัดการการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติมานานนับสิบปี
จำนวนนักท่องเที่ยวที่มากเกินไปในแต่ละพื้นที่ ไม่ได้หมายถึงแค่ภาระของเจ้าหน้าที่ที่ต้องแบกรับในการดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกให้ หากยังหมายถึงผลกระทบทางนิเวศที่อาจมีนัยยะสำคัญต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตนั้นๆ
แต่เนื่องจากการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยเฉพาะในอุทยานแห่งชาติทางทะเลต่างๆ ทั่วประเทศที่มีอยู่จำนวน 26 แห่ง หมายถึงรายได้ของประเทศอย่างมหาศาลในแต่ละปีอีกทางหนึ่ง การจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวที่คำนึงถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศนั้นๆ จึงไม่สามารถดำเนินการได้เต็มที่ และมีอุทยานแห่งชาติเพียงไม่กี่แห่งที่สามารถจัดการการท่องเที่ยวที่อิงการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว หรืออีกนัยยะหนึ่งคือการผนวกแนวคิดเรื่องขีดความสามารถในการรองรับการใช้ประโยชน์ของพื้นที่และทรัพยากรในพื้นที่ (carrying capacity) นั่นเอง
แต่สถานการณ์ของโควิดกำลังเร่งให้แนวคิดดังกล่าวเกิดผลชัดเจนเป็นรูปธรรมขึ้น โดยล่าสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายวราวุธ ศิลปอาชา ได้ตัดสินใจที่จะให้การท่องเที่ยวทางธรรมชาติในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทั่วประเทศผนวกแนวคิดดังกล่าวในการจัดการฯ หลังยุคโควิด หรือที่เรียกกันในขณะนี้ว่า New Normal การท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ซึ่งจะมีกำหนดเปิดพื้นที่ให้เข้าท่องเที่ยวตั้งแต่วันที่ 1 กรกฏาคมนี้เป็นต้นไป
“การจำกัดปริมาณนักท่องเที่ยว เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง อาจไม่สมบูรณ์ก็แน่นอน แต่ที่แน่ๆ เราจะไม่กลับไปเป็นแบบเดิมอีกแล้ว” นายวราวุธกล่าว หลังการเป็นประธานเปิดการท่องเที่ยวสวนสัตว์ในสังกัดในวิถิ New Normal เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา
การจำกัดปริมาณนักท่องเที่ยวในพื้นที่ท่องเที่ยวหนึ่งๆ ซึ่งนับเป็นส่วนสำคัญของการบริหารจัดการการท่องเที่ยวและพื้นที่อนุรักษ์ตามแนวคิด CC ที่กำลังจะเกิดขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์โควิดที่ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนถึงการฟื้นตัวของธรรมชาติตามที่ต่างๆ หลังจากปราศจากการรบกวนของมนุษย์ในช่วงสองถึงสามเดือนที่ผ่านมา
นายวราวุธเอง ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมอ่าวมาหยา ที่ปิดตัวมาก่อนหน้านี้เพื่อการฟื้นฟู ณ อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ และเห็นถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพยากรในพื้นที่ที่อย่างปะการังใต้น้ำ ซึ่ง
ยังต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวอีกมาก เพราะมีเพียง 10-20% ที่เพิ่งฟื้นตัว แม้ทรัพยากรบนบกจะสามารถฟื้นตัวได้กว่า 70% แล้วก็ตาม หลังปิดมานานกว่าปีครึ่ง
“ผมไม่อยากเห็นอย่างที่เกิดกับอ่าวมาหยา” นายวราวุธกล่าว
รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จงคล้าย วรพงศธร ซึ่งดูแลรับผิดชอบแผนการดำเนินการฯ กล่าวว่า ฝ่ายนโยบายต้องการเห็นการท่องเที่ยวทางธรรมชาติตามวิถี New Normal ให้ได้ และการแปลงแนวคิดดังกล่าวให้ออกมาเป็นรูปธรรมที่สำคัญอันหนึ่งคือ การแปลงแนวคิด CC ออกมาเป็นรูปธรรมของการจัดการ นั่นคือการตั้งจำนวนตัวเลขของนักท่องเที่ยวที่พื้นที่สามารถรองรับได้
โดยนายจงคล้ายอธิบายว่า ในเชิงวิชาการ การตั้งตัวเลขดังกล่าวจะต้องมีการศึกษาความสามารถในการรองรับการใช้ประโยชน์ของสิ่งอำนวยความสะดวกในพื้นที่ ความพึงพอใจของนักท่องเที่ยว และที่สำคัญคือ ความสามารถของการรองรับการใช้ประโยชน์ชองพื้นที่และทรัพยากรในพื้นที่ ซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบนิเวศของแหล่งนั้นๆ ก่อนที่จะมาเป็นตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวที่พื้นที่สามารถรับได้
ที่ผ่านมา นายจงคล้ายกล่าวว่า กรมฯ ได้มีการศึกษาเรื่องนี้เอาไว้บ้างแล้ว และเมื่อมีนโยบายที่ชัดเจนที่จะให้ใช้แนวคิดดังกล่าวเป็นหลักการหนึ่งในการจัดการการท่องเที่ยวในอุทยานฯ กรมจึงได้มีการสั่งการให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ดูแลรับผิดชอบประเมินจากงานวิชาการและประสบการณ์ในพื้นที่ โดยตั้งหลักการไว้คร่าวๆคือ ใช้จำนวนตัวเลขของนักท่องเที่ยวที่เคยเข้าไปในพื้นที่เพียงครึ่งหนึ่งเป็นตัวตั้ง เพื่อประมวลกับความสามารถในการรองรับการใช้ประโยชน์ของพื้นที่และทรัพยากรในพื้นที่ เพื่อให้ได้มาซึ่งตัวเลขของนักท่องเที่ยวที่แต่ละพื้นที่จะสามารถรองรับได้ในการท่องเที่ยวหลังยุคโควิด
โดย “พื้นที่” ในที่นี้ หมายถึง แต่ละแหล่งท่องเที่ยว ก่อนที่ตัวเลขจะถูกรวมกันออกมาเป็นตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวที่แต่ละอุทยานฯ รองรับได้ อาทิ หากอุทยานฯ ใด มีแหล่งท่องเที่ยว 2 แหล่ง ทางกรมฯ ให้ทางพื้นที่ประเมินมาว่า แต่ละแหล่งสามารถรับนักท่องเที่ยวได้จำนวนเท่าใด เมื่อรวมกันทั้งสองแหล่ง จึงเท่ากับจำนวนนักท่องเที่ยวที่อุทยานฯ นั้นๆ สามารถรับได้ในแต่ละวัน เป็นต้น
“ผมค่อนข้างมั่นใจในความรู้ความสามารถของกัวหน้าพื้นที่ที่ดูแลรับผิดชอบอยู่เพราะพวกเขาเคยมีประสบการณ์ในการรับมือนักท่องเที่ยวจำนวนมากกันมาแล้ว อย่างไรก็ตาม เราคำนึงถึงหลักวิชาการ และจะดำเนินการศึกษาในรายละเอียดของแต่ละพื้นที่ต่อไปในอนาคต” นายจงคล้ายกว่าถึงการกำหนดตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวที่แต่ละอุทยานฯ จะอนุญาตให้เข้าชมจากนี้
จากการประเมินล่าสุด จะมีอุทยานฯ ที่สามารถเปิดแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ให้เข้าชมได้ทั้งหมด 64 แห่ง เปิดได้บางส่วน 63 แห่ง และที่ต้องยังปิดต่อไปอีก 28 แห่ง
แม้จะได้ตัวเลขที่จะช่วยจำกัดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับธรรมชาติในพื้นที่มาแล้ว นายจงคล้ายยอมรับว่า ความท้าทายที่สำคัญที่รออยู่ข้างหน้าคือ การกำกับดูแลการท่องเที่ยวในพื้นที่ให้เป็นไปตามตัวเลขที่กำหนด ซึ่งอาจมีลักษณะไม่ตายตัว แต่เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาเนื่องจากการเข้า-ออก พื้นที่ของนักท่องเที่ยว
ในเบื้องต้น ทางกรมฯ จะมีการวางระบบการจองการเข้าไปท่องเที่ยวในอุทยานฯ ล่วงหน้า ซึ่งจะทำให้ทราบตัวเลขของนักท่องเที่ยวในเบื้องต้น จากนั้น นักท่องเที่ยวจะต้องเช็คอินและเช็คเอาท์ผ่านแอพพลิเคชั่นไทยชนะ เพื่อยืนยันการเข้าพื้นที่อีกครั้ง และจะช่วยในการติดตามตัวของนักท่องเที่ยวหากมีการระบาดของโรคโควิดในพื้นที่ รวมทั้งมาตรการ social distancing ต่างๆ ที่ช่วยป้องกันการระบาด
ทางกรมและกระทรวงยอมรับว่า ระบบใหม่ที่จะมารองรับแนวคิดดังกล่าวอาจยังไม่สมบูรณ์ 100% แต่มีความเป็นไปได้ที่จะดำเนินการ เพราะมีระบบออนไลน์ของกระทรวงการท่องเที่ยวที่อาจนำเข้ามาช่วยในการจัดการที่ดีขึ้นได้
ในบางพื้นที่ที่ขาดแคลนเครื่องมือหรืออุปกรณ์ในการดำเนินการให้ระบบสมบูรณ์ อาทิ พื้นที่อับสัญญาณต่างๆ นายจงคล้ายกล่าวว่า จะพยายามใช้การตรวจเช็คและการสื่อสารระบบแมนนวลเชื่อมต่อเข้ากับระบบออนไลน์นอกพื้นที่
สำหรับนายวราวุธที่ดูแลด้านนโยบาย กล่าวว่า การท่องเที่ยวทางธรรมชาติในวิถีนิวนอมอล ขึ้นอยู่กับตัวนักท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน
“จากนี้ไป new norms ของการท่องเที่ยวในธรรมชาติ ท่านก็ต้องเช็คก่อนว่าพื้นที่เปิดหรือเต็มแล้วหรือยัง จะต้องจองก่อนมั้ย หรือเส้นทางการเข้าพื้นที่ต่างๆ ต้องศึกษาล่วงหน้าเพื่อช่วยลดภาระกระจายความแออัดกรือไม่
“ที่สำคัญที่สุด, 3 เดือนที่ผ่านมา เราได้เห็นแล้วว่า ธรรมชาติเค้าฟื้นตัวได้และเร็วขนาดไหน ถ้าไม่มีมนุษย์รบกวน ไม่มีสัตว์ตายเพราะขยะแม้แต่ตัวเดียว ไม่มีแบบมาเรียมหรือกวางทางเหนือที่ผ่าท้องมาแล้วพลาสติก 7 กิโล
“การท่องเที่ยว New Normal ในอุทยานฯ จากนี้ ก็ต้องขอด้วยเช่นกัน เช่น อย่าทิ้งขยะเรี่ยราด เป็นต้น” นายวราวุธกล่าว พร้อมกับเพิ่มเติมว่า ที่ใดเกิดความเสียหาย ตนก็พร้อมที่จะปิดเพื่อธรรมชาติและสัตว์ป่าอีกครั้ง
: เที่ยวธรรมชาติวิถี New Normal
: CarMate