Knowledge

ต่อภาษีรถจักรยานยนต์ 2565 ใช้เอกสารอะไรบ้าง และต้องจ่ายเท่าไหร่ ?

ต่อภาษีรถจักรยานยนต์ 2565 เปิดขั้นตอนการ ต่อภาษีรถจักรยานยนต์ 2565 ว่ามีวิธีการอย่างไร ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง รวมถึงต้องจ่ายเงินเท่าไหร่ ทำที่ไหนได้บ้าง ? แบบฉบับรู้ครบจบในที่เดียว 

ต่อภาษีรถจักรยานยนต์ 2565

การต่อภาษีรถจักรยานยนต์หรือต่อทะเบียน เจ้าของรถจะต้องดำเนินการเสียภาษีทุก ๆ ปี ซึ่งถือเป็นระเบียบของกรมการขนส่งทางบก ว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับทะเบียนและภาษีรถตามกฎหมายรถยนต์ พ.ศ. 2562 ซึ่งในหมวด 3 ข้อที่ 17 ระบุไว้ว่า “รถทุกคันที่จดทะเบียนแล้ว ต้องเสียภาษีรถประจำปี เว้นแต่รถที่ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องเสียภาษีประจำปี” เรียกได้ว่าเป็นหน้าที่ของผู้ใช้รถบนถนน ไม่ว่าจะใช้งานรถประเภทไหนก็ตาม ซึ่งถ้าเป็นรถยนต์ หรือรถประเภทอื่น ๆ ที่มีมากกว่า 4 ล้อ ก็จะมีอัตราตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดเอาไว้แตกต่างกันไป แต่ถ้าเป็นรถจักรยานยนต์ เมื่อไปต่อภาษีจะต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง สามารถทำได้ที่ไหน และมีค่าต่อภาษีอยู่ที่เท่าไหร่ วันนี้เราได้รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ในการต่อภาษีมอเตอร์ไซค์ 2565 ทุกขั้นตอนมาไว้ให้คุณแล้ว ! 

ต่อภาษีรถจักรยานยนต์ มีขั้นตอนอย่างไร 

ก่อนที่จะนำรถไปต่อภาษีรถจักรยานยนต์ รถทุกคันจำเป็นต้องมี พ.ร.บ. ซึ่งถ้าเป็นรถใหม่อายุไม่เกิน 5 ปี สามารถซื้อ พ.ร.บ.จักรยานยนต์ ได้ที่บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ทั่วประเทศ, ตัวแทนประกันภัย, เคาน์เตอร์เซอร์วิส 7-11 หรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทุกสาขา แต่หากรถมีอายุเกิน 5 ปีขึ้นไป จะต้องทำการตรวจสภาพรถก่อน โดยสามารถตรวจได้ที่สถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.) ทุกแห่งที่ได้การรับรองจากกรมการขนส่งทางบก ส่วนค่าประกัน พ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ จะมีราคาอยู่ที่ตามความจุกระบอกสูบ ดังนี้

1. รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล

  • ไม่เกิน 75 ซี.ซี. ปีละ 161.57 บาท
  • เกิน 75 ซี.ซี. ถึง 125 ซี.ซี. ปีละ 323.14 บาท
  • เกิน 125 ซี.ซี. ถึง 150 ซี.ซี. ปีละ 430.14 บาท
  • เกิน 150 ซี.ซี. ขึ้นไป ปีละ 645.21 บาท
  • รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ปีละ 323.14 บาท

2. รถจักรยานยนต์รับจ้าง

  • ไม่เกิน 75 ซี.ซี. ปีละ 161.57 บาท
  • เกิน 75 ซี.ซี. ถึง 125 ซี.ซี. ปีละ 376.64 บาท
  • เกิน 125 ซี.ซี. ถึง 150 ซี.ซี. ปีละ 430.14 บาท
  • เกิน 150 ซี.ซี. ขึ้นไป ปีละ 645.21 บาท
  • รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ปีละ 323.14 บาท

3. มอเตอร์ไซค์ให้เช่า

  • ไม่เกิน 75 ซี.ซี. ปีละ 161.57 บาท
  • เกิน 75 ซี.ซี. ถึง 125 ซี.ซี. ปีละ 376.64 บาท
  • เกิน 125 ซี.ซี. ถึง 150 ซี.ซี. ปีละ 430.14 บาท
  • เกิน 150 ซี.ซี. ขึ้นไป ปีละ 645.21 บาท
  • รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ปีละ 323.14 บาท
ต่อภาษีรถจักรยานยนต์ 2565

ค่าตรวจสภาพรถ

รถจักรยานยนต์ที่ต้องการต่อทะเบียน 2565 แล้วมีอายุในการจดทะเบียนเกิน 5 ปี ต้องมีการตรวจสภาพรถก่อนทุกครั้ง โดยสามารถเข้ารับการตรวจได้ที่ ตรอ. ที่ได้รับการรับรองจากกรมการขนส่งทางบก โดยจะมีค่าตรวจสภาพคันละ 60 บาท

ต่อภาษีรถจักรยานยนต์ 2565 ใช้เอกสารอะไรบ้าง

  • เล่มทะเบียน หรือสำเนา
  • ใบตรวจสภาพรถ (สำหรับรถที่มีอายุเกิน 5 ปี)
  • ใบ พ.ร.บ.จักรยานยนต์

เมื่อนำรถไปตรวจสภาพ (รถที่มีอายุเกิน 5 ปี ) และมี พ.ร.บ.จักรยานยนต์ เรียบร้อยแล้ว นำเอกสารทั้งหมดไปยื่นเสียภาษีประจำปีได้ที่กรมการขนส่งทางบก หรือจะเป็นช่องทางอื่น ๆ ที่เปิดให้สามารถเข้าไปยื่นเสียภาษีได้ รวมถึงในสถานการณ์การระบาดของ โควิด 19 ปัจจุบันทางกรมการขนส่งทางบกเปิดโอกาสให้ผู้เป็นเจ้าของรถไปต่อทะเบียน หรือต่อภาษีประจำปี 2565 ได้ผ่านช่องทางออนไลน์แล้วทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ซึ่งสามารถดูวิธีการทำได้ที่ ต่อภาษีรถออนไลน์ประจำปี 2565

ต่อภาษีรถจักรยานยนต์ 2565
ต้องเตรียมเงินไปเท่าไหร่ ?

ตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ได้กำหนดอัตราค่าภาษีประจำปีเอาไว้ว่า รถจักรยานยนต์ให้คำนวณภาษีประจำปีในอัตราดังต่อไปนี้

  • รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล คันละ 100 บาท
  • รถจักรยานยนต์สาธารณะ คันละ 100 บาท
  • รถพ่วงข้างของรถมอเตอร์ไซค์ส่วนบุคคล คันละ 50 บาท

สรุปได้ว่าการเสียภาษีหรือต่อทะเบียนรถจักรยานยนต์ 2565 จะต้องจ่ายเงิน 100 บาท เท่ากันทุกคัน ไม่ว่าจะเป็นขนาดเล็ก 100 ซี.ซี. หรือจะขนาดใหญ่ 1,200 ซี.ซี. ก็เสียในอัตราเดียวกัน ยกเว้นถ้ามีรถพ่วงต้องเพิ่มอีก 50 บาท

ต่อภาษีรถจักรยานยนต์ 2565

ต่อภาษีรถจักรยานยนต์ 2565 ได้ที่ไหนบ้าง 

การต่อภาษีรถจักรยานยนต์นอกจากไปต่อที่กรมการขนส่งทางบกแล้ว สามารถต่อภาษีในช่องทางอื่น ๆ ได้เหมือนรถยนต์ทั่วไป ดังนี้

  • สำนักงานขนส่งทั่วประเทศ 
  • บริการเลื่อนล้อต่อภาษี (Drive Thru For Tax)
  • ที่ทำการไปรษณีย์ (เฉพาะรถที่ยังไม่ต้องตรวจสภาพ)
  • ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) (เฉพาะรถที่ยังไม่ต้องตรวจสภาพ)
  • ร้านค้าที่มีสัญลักษณ์เคาน์เตอร์เซอร์วิสทั่วประเทศ เปิดให้บริการทุกวันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 07.30-15.30 น. (เฉพาะรถที่ยังไม่ต้องตรวจสภาพ)
  • ห้างสรรพสินค้า โครงการ “ช้อปให้พอ แล้วต่อภาษี (Shop Thru for Tax)” เฉพาะวันเสาร์ และอาทิตย์ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล (ข้อมูล ณ วันที่ 23 มีนาคม 2564) ประกอบด้วย ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี จำนวน 11 สาขา ได้แก่ สาขาบางบอน บางปะกอก เพชรเกษม อ่อนนุช สุวินทวงศ์ รัชดาภิเษก สุขาภิบาล 3 ลาดพร้าว รามอินทรา สำโรง และสมุทรปราการ เปิดให้บริการวันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น. ศูนย์การค้าพาราไดซ์ พาร์ค, เซ็นทรัล ศาลายา, เซ็นทรัล แจ้งวัฒนะ, เซ็นทรัล เวสต์เกต และเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน เปิดให้บริการวันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 10.00-18.00 น. ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล สาขารามอินทรา เปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 10.00-17.00 น. ศูนย์การค้าพาราไดซ์ พาร์ค เปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 10.00-17.00 น. ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 11.00-18.00 น. ศูนย์บริการร่วมคมนาคม ณ เชิงสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน เปิดให้บริการวันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.30-15.00 น.
  • ต่อภาษีรถยนต์ผ่านช่องทางออนไลน์ ที่เว็บไซต์ eservice.dlt.go.th

ต่อภาษีรถจักรยานยนต์ช้า เสียค่าปรับเท่าไหร่

การชำระภาษีรถประจำปีล่าช้าจะมีค่าปรับในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน และหากขาดการต่อเกิน 3 ปี จะส่งผลให้ทะเบียนรถถูกระงับทำให้ไม่สามารถดำเนินการทางทะเบียนได้ เช่น การโอนเปลี่ยนชื่อ แจ้งเปลี่ยนสี แก้ไขรายการคู่มือรถ เป็นต้น

ในการต่อภาษีรถจักรยานยนต์นั้นเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ง่ายและใช้เวลาไม่นาน พร้อมกับยังมีช่องทางในการยื่นชำระที่หลากหลาย เหมาะสำหรับช่วงโควิด 19 ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็อย่าชะล่าใจลืมเช็กวันหมดอายุของภาษีรถจักรยานยนต์ของคุณ เพราะถ้าเผลอขับออกถนน แล้วเจอตำรวจเรียกตรวจขึ้นมา ถือว่าผิดกฎหมาย ต้องเสียค่าปรับ ซึ่งมีราคาแพงกว่าค่าปรับชำระล่าช้าอีกนั่นเอง

ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมการขนส่งทางบก