LifeStyle

10 ถนนสุดเฮี้ยน ที่มักเกิดอุบัติเหตุมากที่สุดในไทย

 10 ถนนสุดเฮี้ยน ที่มักเกิดอุบัติเหตุมากที่สุดในไทย อุบัติเหตุทางท้องถนน ถือเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก จากรายงานขององค์การอนามัยโลกในปี 2561 รายงานว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 1.25 ล้านคน เป็น 1.35 ล้านคน ในช่วงเวลาเพียง 3 ปีเท่านั้นเอง

สำหรับประเทศไทย จากรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์สถานการณ์อุบัติเหตุทางถนน ของกระทรวงคมนาคม พ.ศ.2561 จัดทำโดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร สำนักแผนความปลอดภัย กลุ่มพัฒนาความปลอดภัย กล่าวถึงตัวเลขการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทย อ้างอิงจากฐานข้อมูลในปี 2556 พบว่า ประเทศไทยมีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนอยู่ในอันดับที่ 2 ของโลก สูงที่สุดเป็นอันดับ 1 ในอาเซียนและในเอเชีย จำนวนผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 36.2 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน เฉลี่ยปีละ 24,326 คน

สถิติของอุบัติเหตุของประเทศไทย

รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์สถานการณ์อุบัติเหตุทางถนน ของกระทรวงคมนาคม พ.ศ.2561 ได้จำแนกสัดส่วนผู้เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทย เกิดจากรถจักรยานยนต์มากที่สุดถึง 74.4 เปอร์เซ็นต์ รถยนต์ 12.7 เปอร์เซ็นต์ คนเดินเท้า 7.6 เปอร์เซ็นต์ จักรยาน 3.5 เปอร์เซ็นต์ และผู้ใช้ถนนอื่น ๆ อีก 2.3 เปอร์เซ็นต์ (ข้อมูลของ Global Report on Road Safety 2018, WHO เดือนกรกฎาคม 2562)

อย่างไรก็ตาม สถิติจำนวนอุบัติเหตุจราจรทางบกที่ได้รับแจ้งในปี 2561 ระบบ CRIMES พบจำนวนคดีอุบัติเหตุมากถึง 103,746 คดี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2560 มากถึง 20.7 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรทางบกที่ได้รับแจ้งประจำปี พ.ศ. 2561 (1 ม.ค. – 31 ธ.ค. 2561) เมื่อนำมาเทียบกับตัวเลขในปี 2560 พบว่ามีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 8,366 ราย (4.5 เปอร์เซ็นต์) เป็นเพศชาย 6,349 ราย (75.9 เปอร์เซ็นต์) และเพศหญิง 2,017 ราย (24.1 เปอร์เซ็นต์) เสียชีวิตที่จุดเกิดเหตุ จำนวน 4,187 ราย (50.05 เปอร์เซ็นต์) เสียชีวิตที่โรงพยาบาล 4,179 ราย (49.95 เปอร์เซ็นต์) มีผู้บาดเจ็บสาหัส จำนวน 5,380 ราย และผู้บาดเจ็บจำนวน 55,974 ราย

จากสถิติ จะพบว่าอุบัติเหตุในประเทศในปี 2561 ดีขึ้นกว่าปี 2560 เล็กน้อยในภาพรวม แต่ก็ยังเป็นตัวเลขที่สูงมากอยู่ดี ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ เพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน เดือนกันยายน 2563 สถิติสะสมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-28 ก.ย. 2563 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนแล้วถึง 10,937 ราย บาดเจ็บ 709,750 คน แม้ว่าจะยังไม่หมดปีก็ตาม และการเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งก็เป็นอุบัติเหตุเสียชีวิตหมู่ด้วย

road_accident_02

สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุในประเทศไทย

ข้อมูลรายงานมูลเหตุสันนิษฐานหลักที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุในระบบ CRIMES ปี 2561 จำแนกประเภทของสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุทางถนนแตกต่างจากระบบบันทึกข้อมูลเดิม (ระบบ POLIS) รายงานมูลเหตุสันนิษฐานหลักที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุของปี 2561 แบ่งออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่

  • ลักษณะการชน
  • สาเหตุจากบุคคล
  • สาเหตุจากอุปกรณ์
  • สาเหตุจากสภาพแวดล้อม
  • สาเหตุจากไฟจราจร/ป้ายบอกทาง

ลักษณะถนนที่เกิดอุบัติเหตุ

สาเหตุจากสภาพแวดล้อม หรือลักษณะของถนน เป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ โดยในปี 2561 ซึ่งเกิดอุบัติเหตุทั้งหมด 19,643 ครั้ง ลักษณะถนนบริเวณที่เกิดอุบัติเหตุแบ่งเป็นดังนี้

  • อุบัติเหตุบนทางตรง 12,791 ครั้ง (65.12 เปอร์เซ็นต์)
  • อุบัติเหตุบนทางโค้ง 2,614 ครั้ง (13.31 เปอร์เซ็นต์)
  • อุบัติเหตุบนทางแยก 1,678 ครั้ง (8.54 เปอร์เซ็นต์)
  • อุบัติเหตุบนทางโค้งกว้างที่ไม่มีทางลาดชันหรือเป็นที่ราบ 1,262 ครั้ง (6.42 เปอร์เซ็นต์)
  • อุบัติเหตุบนทางตรงที่ไม่มีความลาดชันหรือเป็นที่ราบ 688 ครั้ง (3.5 เปอร์เซ็นต์)
  • อุบัติเหตุบนช่วงลาดชัน จำนวน 610 ครั้ง (3.11 เปอร์เซ็นต์)
road_accident_01

สภาพถนนประเทศไทย อันตรายที่สุด

จะเห็นได้ว่าอุบัติเหตุที่เกิดบนถนนที่เกิดจากสภาพทางกายภาพของถนนและสภาพแวดล้อมของถนนมีส่วนให้เกิดอุบัติเหตุ โดยองค์การอนามัยโลกได้มีสถิติที่ระบุชัดเจนว่าความสูญเสียบนถนนของไทยว่า “เป็นถนนที่อันตรายที่สุด” เนื่องจาก

  • ถนนเมืองไทยมีร้านค้าแผงลอยอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งบริเวณริมถนน หรือตามตรอกซอกซอยต่าง ๆ ตั้งกีดขวางทางจราจรทั้งรถและคนเดินเท้า อยู่บนฟุตบาทลงไปจนถึงพื้นถนน
  • ผู้ใช้รถใช้ถนนไม่เคารพกฎจราจร บางพื้นที่ถนนจะค่อนข้างเล็กและแคบ แต่ก็ยังมีการขับด้วยความเร็วเกินที่กำหนด ฝ่าไฟแดง ไม่จอดให้คนข้ามบริเวณทางม้าลาย ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ไม่สวมหมวกกันน็อก
  • สภาพของพื้นผิวถนน บางแห่งเป็นหลุมเป็นบ่อ ถนนลูกรัง ลูกระนาดที่สร้างไม่ได้มาตรฐาน
  • การบำรุงซ่อมแซมถนนที่ยืดเยื้อยาวนานมีให้เห็นอยู่หลายจุด ซึ่งจะเป็นปัญหากับผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับเส้นทาง เพราะเต็มไปด้วยสิ่งกีดขวาง เส้นทางคดเคี้ยวไปมา ต้องเบี่ยงซ้ายเบี่ยงขวาอยู่ตลอด
  • การวางผังเมือง ถนนบางเส้นในกรุงเทพฯ มีลักษณะเป็นตรอกซอกซอยจำนวนมาก เมื่อมีสาเหตุอื่น ๆ มาประกอบกันด้วย ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

ถนนทางโค้ง ถนนสุดอันตราย

จากสถิติในปี 2561 แม้ว่าลักษณะของถนนทางตรงจะเกิดอุบัติเหตุสูงที่สุด เนื่องจากเป็นลักษณะถนนที่สามารถทำความเร็วได้สูง แต่ถนนทางโค้งก็มักเกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้งเช่นกัน มักจะเรียกว่าเป็นถนนเฮี้ยน เพราะมีผู้เสียชีวิตเป็นประจำ ด้วยปัจจัยเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุในตัวถนนเอง จึงเป็นทางที่ค่อนข้างอันตราย โดยเฉพาะกับผู้ที่ไม่ชำนาญเส้นทาง ประกอบกับสาเหตุอื่น ๆ เช่น ไฟจราจร/ป้ายบอกทางไม่ชัดเจน ทำให้ผู้ขับขี่ไม่สามารถควบคุมรถได้ทัน

ถนนเส้นที่มักมีอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้ง เช่น

  • ทางโค้งเหมืองผา อ.แม่ริม จ.แม่ฮ่องสอน
  • ทางโค้งหน้าศาลอาญารัชดา
  • ทางโค้งผีเฮี้ยน อ.แม่ทา จ.ลำพูน
  • ทางโค้ง อ.ถลาง จ.ภูเก็ต
  • ทางแยกตัว Y สะพานรัชวิภา
  • โค้งกรอกยายชา เขตเทศบาลตำบลเนินพระ อ.เมืองระยอง จ.ระยอง
  • โค้งทางด่วนพระรามหก ทางด่วนพระราม 6 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท
  • สะพานร้อยศพ อ.ปะทิว จ.ชุมพร
  • ทางโค้ง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์
  • ทางโค้ง อ.นาทวี จ.สงขลา

จะเห็นได้ว่าตัวเลขอุบัติเหตุบนถนนในประเทศไทยนั้นสูงมาก ทั้งจำนวนการเกิดอุบัติเหตุ ผู้บาดเจ็บ และผู้เสียชีวิต ฉะนั้น ถ้าเรายังประมาท ไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร และมีพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุแล้วล่ะก็ ก็ไม่มีทางรู้เลยว่าวันไหนที่เราจะเป็นผู้โชคร้าย

: 10 ถนนสุดเฮี้ยน