กรมการขนส่งทางบกแนะผู้ที่สนใจทำใบขับขี่สากล สามารถนำหลักฐานเข้ารับบริการได้ทันที (Walk-in) โดยไม่จำเป็นต้องจองคิวล่วงหน้า ทั้งสำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานคร 1-5 และสำนักงานขนส่งจังหวัดทุกแห่ง
กรมการขนส่งทางบกเผยผู้ที่สนใจขอรับใบขับขี่สากลเพื่อนำไปใช้ในต่างประเทศ สามารถเข้ารับบริการ ณ สำนักงานขนส่งได้โดยไม่ต้องจองคิวล่วงหน้า (Walk-in) หรือหากมีความประสงค์จองคิวล่วงหน้า สามารถจองผ่านแอปพลิเคชัน DLT Smart Queqe พร้อมทั้งแจ้งรายชื่อประเทศที่ต้องการนำใบขับขี่สากลไปใช้ต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อตรวจสอบความเกี่ยวข้องในการร่วมเป็นภาคีตามอนุสัญญา หรือสามารถตรวจด้วยตัวเองได้ที่ https://apps.dlt.go.th/ltpcenter/
หลักฐานที่ต้องใช้ในการขอรับใบขับขี่สากล
- หนังสือเดินทางฉบับจริง ซึ่งยังไม่สิ้นอายุ
- บัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริง ซึ่งยังไม่สิ้นอายุ
- ใบขับขี่ไทยฉบับจริง (แบบ 5 ปี, ตลอดชีพ หรือขนส่ง) ซึ่งยังไม่สิ้นอายุ
- รูปถ่ายขนาด 2 นิ้ว 2 รูป ไม่เคลือบมัน (ไม่เกิน 6 เดือน)
- ค่าธรรมเนียมพร้อมค่าคำขอ 505 บาท
หลักฐานที่ต้องใช้ในการขอรับใบขับขี่สากล (กรณีคนต่างชาติ)
- หนังสือเดินทางและวีซ่า (ต้องไม่ใช่เพื่อการท่องเที่ยว เล่นกีฬา หรือเดินทางผ่านเมือง) (ฉบับจริงพร้อมสำเนา)
- ใบสำคัญถิ่นที่อยู่ ที่รับรองโดยสถานทูต หรือสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ฉบับจริง) หรือใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) หรือใบอนุญาตทำงานอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Work Permit) ที่แสดงรายละเอียด ที่อยู่ และยังไม่สิ้นอายุ หรือหลักฐานที่แสดงว่าเป็นผู้ได้รับการตรวจลงตราพิเศษ (Smart Visa) ที่รับรองโดยสถานทูต หรือสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หรือหน่วยงานภาครัฐ หรือองค์กรระหว่างประเทศออกให้ (ฉบับจริงพร้อมสำเนา)
- ใบขับขี่ไทยฉบับจริงพร้อมสำเนา (แบบ 5 ปี หรือ ตลอดชีพ) (ฉบับจริงพร้อมสำเนา) ซึ่งยังไม่สิ้นอายุ
- รูปถ่าย ขนาด 2 นิ้ว 2 รูป ไม่เคลือบมัน (รูปถ่ายไม่เกิน 6 เดือน)
- ค่าธรรมเนียมพร้อมค่าคำขอ 505 บาท
หลักฐานที่ต้องใช้กรณีมอบอำนาจ
- ใบมอบอำนาจ
- บัตรประชาชนผู้รับมอบอำนาจ ฉบับจริงพร้อมสำเนา
- หลักฐานของผู้มอบอำนาจที่จะใช้ในการขอรับใบขับขี่สากล (สำเนาพร้อมเซ็นรับรองสำเนาถูกต้อง) ตามอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ
- ค่าธรรมเนียมพร้อมค่าคำขอ 505 บาท
ปัจจุบันใบขับขี่สากลที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการจราจรทางถนน ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทตามอนุสัญญา 2 ฉบับ ได้แก่ “อนุสัญญาเจนีวา 1949” และ “อนุสัญญาเวียนนา 1968” โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
– อนุสัญญาว่าด้วยการจราจรทางถนน ณ นครเจนีวา ค.ศ. 1949 หรือ อนุสัญญาเจนีวา 1949 มีอายุ 1 ปี นำไปใช้ได้ใน 102 ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น เป็นต้น
– อนุสัญญาว่าด้วยการจราจรทางถนน ณ กรุงเวียนนา ค.ศ. 1968 หรือ อนุสัญญาเวียนนา 1968 มีอายุ 3 ปีนับแต่วันออกใบขับขี่สากล หรือเท่ากับอายุของใบขับขี่ภายในประเทศที่ผู้ถือมีอยู่ นำไปใช้ได้ 86 ประเทศ เช่น บาห์เรน บราซิล เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น
สำหรับประเทศที่เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาทั้งสองฉบับ เช่น สหราชอาณาจักร อิตาลี ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ สวีเดน รวมถึงประเทศไทย สามารถใช้ใบขับขี่สากลที่ออกตามอนุสัญญาเวียนนา 1968 เพียงฉบับเดียวได้